![]() |
ประวัติความเป็นมาของสมาคมผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาแห่งประเทศไทย |
ภูมิหลัง |
ประมาณปลายปีการศึกษา 2516 ครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษาและอนุบาลใน ส่วนกลาง 4-5 คน ซึ่งประกอบด้วย นายประยูร เจตะสานนท์ ครูใหญ่เอกโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ นายสะธรรม ปั้นประเสริฐ ครูใหญ่เอกโรงเรียนประถมบางแค นายจรุญ มุ่งการนา ครูใหญ่โรงเรียนพร้านีลวัชระ นายพงศ์ศักดิ์ รัตนวงศา ครูใหญ่เอกโรงเรียนประถมทวีธาภิเศก นายประเสริฐ จีนุพงศ์ เจ้าหน้าที่บริหารงานบุคคล กรมสามัญศึกษา นายนิพนธ์ ใจยินดี ผู้ช่วยครูใหญ่รักษาราชการแทนครูใหญ่โรงเรียนพุทธบูชา ได้นัดพบปะกันอย่างไม่เป็นทางการ ที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทัศนงานในหน้าที่ผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา ทำให้สมาชิกได้รับประโยชน์ในการพบปะกันในครั้งนี้เป็นอันมาก ในระยะต่อมาอีกประมาณ 1 เดือน จึงได้นัดให้มีการพบปะกันระหว่าง ครูใหญ่โรงเรียนส่วนกลางอีก 2-3 ครั้ง โดยมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จนต่อมาในครั้งหลังสุด เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 28 กรกฎาคม 2517 เวลา 11.30 น. ได้นัดพบกันครั้งใหญ่ที่ร้านอาหารมีชื่อข้างสะพานกรุงธนฯ แบบเฉลี่ยค่าอาหารและงดผู้ติดตาม มีครูใหญ่โรงเรียนในส่วนกลางทั้งประถมและอนุบาลเกือบทั้งหมดมาชุมนุมรับประทานอาหารร่วมกัน ทำให้เกิดความคิดในการที่จะร่วมกันจัดตั้งกันเป็นชมรมขึ้น มีการเลือกตั้งประธานชมรม (อาจารย์ปรีดา จันทรุเบกษา) รองประธานชมรมฯ (อาจารย์วรณี สุทธเวช และอาจารย์ทับทิม บุณยพัชรินทร์) และกรรมการบริหารอีก 14 คน ตามรูปแบบของระบอบประชาธิปไตย ได้จัดให้มีการศึกษาในต่างจังหวัดร่วมกัน มีการพบปะหารือเพื่อดำเนินงานในหน้าที่กันมากครั้งขึ้น และต่อมาไม่นานนักก็จัดให้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งไปยกร่างระเบียบข้อบังคับของชมรมผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อให้สมาชิกครูใหญ่ทั้งหมดในส่วนกลางได้ ช่วยกันพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อใช้เป็นหลักในการดำเนินงานของชมรมฯ ต่อไป ในระหว่างการดำเนินการยกร่าง ระเบียบข้อบังคับอยู่นั้น ก็ได้นำร่างฉบับแรก เข้าพบปะหารือกับผู้ใหญ่หลายท่านโดยได้มอบหมายให้ประธานชมรมฯ (อาจารย์ปรีดา จันทรุเบกษา) รองประธานชมรมฯ (อาจารย์วรณี สุนทรเวช และอาจารย์ทับทิม บุณยพัชรนทร์) และกรรมการบริหารที่ได้จากการเลือกตั้งนำไปเรียนหารือ อาทิ อาจารย์เกรียง กีรติกร ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อาจารย์ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและอธิบดีกรมสามัญศึกษา อาจารย์สมาน แสงมลิ, อาจารย์ ดร.สาย ภาณุรัตน์ รองอธิบดีกรมสามัญ, อาจารย์ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ผู้อำนวยการกองการประถมศึกษาทุกท่านได้ให้ความเห็นเป็นทำนองเดียวกันว่า เป็นสิ่งที่ดีและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทุก ๆ ทาง จากนั้นมาไม่นานนัก ระเบียบข้อบังคับชมรมผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาก็ผ่านความเห็นชอบ จากคณะครูใหญ่โรงเรียนในเครือสมาชิกทั้งหมดและได้ดำเนินการให้มีการเลือกตั้งกรรมการดำเนินงานของชมรมผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2518 เพื่อบริหารงานตามระเบียบข้อบังคับของชมรมฯ ต่อไป จากเรื่องราวความเป็นมาที่กล่าวโดยสังเขปทั้งหมด ทำให้ชมรมฯ ได้เกิดขึ้นด้วยความระมัดระวังและตระหนักต่อภาระหน้าที่ของชมรมฯ เป็นอย่างดียิ่ง สมาชิกผู้ริเริ่มต้องเสียสละเพื่อให้เกิดเป็นชมรมผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นมา สมาชิกทุกคนก็มีความปลื้มปิติต่อการที่บุคคล ซึ่งยังผลให้การดำเนินงานทางโรงเรียนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น |
การก่อตั้งชมรม |
ชมรมผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา มีคณะกรรมการที่เข้มแข็ง ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่จากกระทรวงศึกษาธิการ มีสมาชิกจำนวนมาก ซึ่งชมรมผู้บริหารได้เริ่มฟักตัวตั้งแต่ ปี 2516 มีคณะกรรมการบริหาร 2 ชุด ใช้เวลานาน ถึง 4 ปี และเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2518 ได้ดำเนินการยื่นขอจัดตั้งสมาคมฯ และได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็นสมาคมฯ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2519 ณ บ้านเลขที่ 73 ซอยเจริญมิตร ถนนเอกมัย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร (บ้านผู้อำนวยการวรณี สุนทรเวช) ต่อมาสมาคมฯ ได้ย้ายที่ตั้งสมาคมฯ มาอยู่ที่ คุรุสัมมาคาร พญาไท กรุงเทพฯ ปี 2531 ย้ายสำนักงานสมาคม ฯ มาอยู่ที่ 291/1 ตึกอาคารอำนวยการโรงเรียนราชวินิต ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 โทร. 281-2156 ข้อบังคับสมาคมผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา มีการแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้ง ครั้งแรก 2523 และครั้งสุดท้าย 2531 สมาคมผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาใช้อักษรย่อว่า ส.บ.ป หรือมีชื่อภาษาอังกฤษว่า elementary School Administrators Association มีชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า E.S.A.A. ต่อมาได้แก้ไขเพิ่มเติมเป็น สมาคมผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาแห่งประเทศไทย ใช้อักษรย่อ ส.บ.ท. มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Elementary School Administrators Society of Thailand มีชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า E.S.A.T. (ประชุมครั้งที่ 3/2523 วันที่ 22-24 กันยายน 2523) เครื่องหมายของสมาคมฯ เป็นรูปดวงแก้วมีเปลวเพลิงล้อมรอบ ภายในมีอักษร ส.บ.ป. (ส.บ.ท) ดวงแก้ว หมายถึง ผู้บริหาร ซึ่งเป็นผู้มีค่าดั่งดวงแก้ว เปลวเพลิง คือแสงสว่าง หมายถึง ปัญญา ต่อมาปี 2531 สมาคมได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุชาดฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ได้พระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธย ย่อ สธ เป็นเครื่องหมายของสมาคม มีข้อความในแถบครึ่งวงกลมข้างล่างของพระนามาภิไธย ย่อ สธ ว่า สมาคมผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาแห่งประเทศไทย |